บทความ ท่องเที่ยว

ตามรอยปริศนา "โมอาย"

 
ตามรอยปริศนาอารยธรรมโบราณ

 

ตามรอยปริศนาอารยธรรมโบราณ


              หลายคนอาจเคยเห็นรูปสลักหินขนาดใหญ่ที่มีหน้าตาและรูปร่างคล้ายคนกันมาบ้าง  กับเจ้า "โมอาย" ที่กล่าวขานกันว่ามีปริศนามากมายทั้งวิธีการสร้างและวิธีการเคลื่อนย้าย ฉะนั้นวันนี้กระปุกดอทคอมจะขอพาท่านผู้อ่านไปทำความรู้จักและร่วมตามรอยปริศนาแห่งโมอายกันค่ะ

             โมอาย (Moai) คือรูปปั้นหินซึ่งมีรูปร่างคล้ายมนุษย์ แต่ส่วนศีรษะมีขนาดใหญ่กว่าปกติ โมอายถูกสร้างจากหินและกากแร่ภูเขาไฟหรือหินบะซอลต์ถูกพบกระจัดกระจายมากกว่า 900 ตัวอยู่ทั่วเกาะอีสเตอร์ (Easter Island) หรือที่ชาวพื้นเมืองเชื้อสายพอลินิเชียน เรียกกันว่าเกาะราปานูอี  เกาะที่ว่านี้ตั้งอยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิก ห่างจากชายฝั่งประเทศชิลีไปทางทิศตะวันตกกว่า 3,600 กิโลเมตร ส่วนเกาะข้างเคียงที่อยู่ใกล้ที่สุดก็อยู่ห่างจากเกาะอีสเตอร์ไปกว่า 2,000 กิโลเมตร นับว่าเกาะอีสเตอร์เป็นสถานที่ที่โดดเดี่ยวแห่งหนึ่งของโลกเลยทีเดียว 

ตามรอยปริศนาอารยธรรมโบราณ


             โมอายถูกค้นพบครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2265 โดยนักสำรวจชาวดัตช์นามว่า เจค็อบ  ร็อกก์วีนโดยค้นพบในวันอีสเตอร์พอดิบพอดี (เป็นที่มาของชื่อเกาะ) จึงเริ่มทำให้โมอายกลายเป็นที่รู้จักไปทั่วพิภพในเวลาต่อมา

ตามรอยปริศนาอารยธรรมโบราณ


             ความไม่ธรรมดาของโมอายที่จะต้องกล่าวถึงสักหน่อย เริ่มที่ขนาดมหึมาของมัน  ขนาดโดยเฉลี่ยของโมอายทั่วทั้งเกาะคือประมาณ 4 เมตร โดยตัวที่ใหญ่ที่สุดสูงถึง 21 เมตร หนักกว่า 165 ตัน ส่วนตัวที่เล็กที่สุดมีขนาด 1.13 เมตร ลักษณะโดยทั่วไปของโมอายเกือบทั้งหมด เป็นรูปสลักที่ถูกแกะสลักมาจากหินก้อนเดียว แต่ก็มีบางตัวที่มีเครื่องประดับบนหัว ดูคล้ายหมวกหรือมวยผม เรียกว่า ปูเกา (Pukao) โมอายเกือบทั้งหมดถูกแกะสลักจากเหมืองหินที่บริเวณปล่องภูเขาไฟ ราโนรารากู (Rano Raraku) ซึ่งภายหลังในบริเวณนี้ ได้ค้นพบโมอายกว่า 400 ตัวที่ยังสร้างไม่เสร็จด้วย

ตามรอยปริศนาอารยธรรมโบราณ


             ส่วนจุดประสงค์ของการสร้างโมอาย คือสร้างขึ้นเพื่อประดับ อาฮู (Ahu) ซึ่งตั้งอยู่ตามแถบชายฝั่งมหาสมุทร มีลักษณะเป็นฐานหินเรียบขนาดใหญ่ มีความสูงประมาณ 1.2 เมตร นักโบราณคดีคาดว่า คำว่า อาฮู นั้น หมายถึงฐานศักดิ์สิทธิ์สำหรับให้โมอายตั้งอยู่ด้านบน เช่น อาฮู อากิวี (Ahu Akivi) เป็นอาฮูที่มีโมอาย 7 ตัวตั้งอยู่ด้านบน

             ส่วนข้อสันนิษฐานอื่น ๆ เกี่ยวกับจุดประสงค์ของการสร้างโมอาย คือ คนโบราณอาจสร้างโมอายขึ้นเพื่อรำลึกถึงบรรพบุรุษผู้ล่วงลับ หรือเป็นบุคคลสำคัญของชุมชน เช่น หัวหน้าเผ่า 

             ยูเนสโกได้ขึ้นทะเบียนให้โมอายเป็นมรดกโลก เมื่อปี พ.ศ. 2533 ด้วยเหตุผล 3 ประการ คือ

             1. เป็นตัวแทนซึ่งแสดงผลงานชิ้นเอกที่จัดทำขึ้นด้วยการสร้างสรรค์อันฉลาด

              2. เป็นสิ่งที่ยืนยันถึงหลักฐานของวัฒนธรรมหรืออารยธรรมที่ปรากฏให้เห็นอยู่ในปัจจุบันหรือว่าที่สาบสูญไปแล้ว

     3.  เป็นตัวอย่างอันโดดเด่นของวัฒนธรรมมนุษย์ ขนบธรรมเนียมประเพณีแห่งสถาปัตยกรรม วิธีการก่อสร้าง หรือการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ ซึ่งเสื่อมสลายได้ง่ายจากผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมตามกาลเวลา


             และเมื่อช่วงเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2554  นักวิทยาศาสตร์และนักโบราณคดีได้ค้นพบว่า ที่จริงแล้วโมอายหลายตัวไม่ได้มีแค่ส่วนหัวอย่างที่เห็นกัน เพราะโมอายได้ซ่อนลำตัวไว้ใต้พื้นดินลึกลงไปกว่า 3 เมตร ส่วนด้านหลังร่างกายของโมอาย มีศิลปะสกัดหินเป็นอักษรภาพ ที่ยังไม่มีใครสามารถถอดรหัสได้เลย

ตามรอยปริศนาอารยธรรมโบราณ

 

ตามรอยปริศนาอารยธรรมโบราณ


             เรียกได้ว่าเป็นเรื่องราวที่น่าทึ่งอีกเรื่องหนึ่งบนโลกใบนี้ ด้วยปริศนาต่าง ๆ ที่ยังคงมีให้ตั้งคำถามเกี่ยวกับเจ้าโมอายอีกมากมาย รวมถึงการค้นพบของนักโบราณคดีที่ทำเอามนุษย์ตัวจ้อยอย่างเราได้ตื่นเต้นไปกับมันอยู่เรื่อย ๆ และยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ครั้งหนึ่งในชีวิตของผู้รักการเดินทาง ควรได้มาสัมผัสบรรยากาศของจริงด้วยตนเองด้วยนะ

             และสำหรับผู้ที่สนใจจะเดินทางไปเยี่ยมชมเจ้าโมอายเหล่านี้ด้วยตาตนเอง สามารถเดินทางจากประเทศไทยโดยนั่งเครื่องบินไปลงที่ ซันติอาโก แอร์พอร์ต ประเทศชิลี แล้วต่อเครื่องบินมายังเกาะอีสเตอร์ได้ค่ะ

ตามรอยปริศนาอารยธรรมโบราณ

Recent Post